Search

เบื้องหน้า-เบื้องหลัง...ระเบิดเลบานอน (จบ) - ผู้จัดการออนไลน์

humanrightsmiddleeast.blogspot.com

Abdulaziz Sager ประธานและผู้ก่อตั้ง The Gulf Research Center ซาอุดีอาระเบีย
คืออันที่จริงแล้ว...ขบวนการ “เฮซบอลเลาะห์” ที่มีบทบาททางการเมืองอยู่ในเลบานอนมิใช่น้อย ถึงกับมีรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลเลบานอนในปัจจุบัน ออกจะเป็นขบวนการ หรือเป็นกลุ่มก้อนทางการเมือง ที่ออกจะใกล้ชนิดสนิทสนมกับ “ศัตรูคู่กัด” ของคุณพ่ออเมริกาและอิสราเอล อย่าง “อิหร่าน” นั่นแหละเป็นหลัก ไม่ว่าในแง่เงินๆ-ทองๆ หรือในแง่อาวุธยุทโธปกรณ์ เอาเลยก็ยังได้ และเมื่อ “ศัตรูของศัตรู...ย่อมต้องถือเป็นมิตร” อย่างมิอาจปฏิเสธได้ สายสัมพันธ์ระหว่าง “เฮซบอลเลาะห์” กับ “อิหร่าน” จึงหนีไม่พ้นต้องเชื่อมโยงต่อไปยังคุณพี่จีน ที่นับวันถูกคุณพ่ออเมริกาพยายามเนรมิตสร้าง ให้ต้องกลายเป็น “ศัตรู” ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ...

อีกทั้งในแง่ “ภูมิรัฐศาสตร์” /ของเลบานอน ไม่ว่าแต่ครั้งโบร่ำโบราณ หรือ ณ ขณะปัจจุบัน ยังเป็นอะไรที่มีความ “สำคัญ” มิใช่น้อยโดยเฉพาะต่อการรองรับอภิมหาโครงการ “Belt and Road” หรือ “โครงการเปลี่ยนโลก” ของคุณพี่จีนเขานั่นแหละ คือสามารถก่อให้เกิดการเชื่อมโยง “เส้นทางสายไหมใหม่” ระหว่างกรุงเบรุตของเลบานอน กับกรุงทริโปลีของลิเบีย ต่อไปยังกรุงดามัสกัสและเมืองฮอมส์ของซีเรีย จนถือเป็น “ระเบียงทางเศรษฐกิจ” ที่จะเป็นตัวเชื่อมโยงจีน ภูมิภาคเอเชียกลาง ตะวันออกกลาง และยุโรปเข้าไว้ด้วยกัน จนนำไปสู่การเสนอเงินทุนโดยนักลงทุนชาวจีนให้กับเลบานอนในหลายต่อหลายโครงการ เมื่อช่วงปีที่แล้ว ไม่ว่าโครงการ “ทางด่วนอาหรับ” ที่นอกจากจะเชื่อมกรุงเบรุตและกรุงดามัสกัส ด้วยถนนและรถไฟรางคู่ ยังเชื่อมต่อทางด่วนภายในเลบานอนระหว่างภาคเหนือ-ภาคใต้ ไปจนถึงโครงการสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ แล้วยังตามด้วยโครงการความร่วมมือนานาประการ ไม่ว่าการจัดตั้ง “ศูนย์วัฒนธรรม” ระหว่างสองประเทศ การจัดตั้ง “สถาบันขงจื๊อ” ขึ้นในมหาวิทยาลัย “St. Joseph” ในกรุงเบรุต จัดตั้งโรงเรียนสอนภาษาจีนขึ้นที่ศูนย์ภาษามหาวิทยาลัยเลบานอน ไปจนการควักเงินบริจาคจำนวนถึง 66 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างศูนย์ดนตรีที่ใหญ่ที่สุดขึ้นมาในเลบานอน ฯลฯ...

นอกเหนือไปจากนั้น...บรรดาชาวเลบานอน ที่เคย “ซื้อแพง-กินแพง” อันเนื่องมาจากต้อง “สั่งเข้า” สินค้าจำเป็นถึง 80 เปอร์เซ็นต์จากต่างประเทศ หรือจากประเทศตะวันตกมาโดยตลอด แต่มาถึงทุกวันนี้เกือบครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของสินค้านำเข้าทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ของเล่น อุปกรณ์ไฟฟ้า โทรศัพท์ เฟอร์นิเจอร์ แอร์คอนดิชั่น เครื่องมืออุตสาหกรรม ขนม อาหาร ฯลฯ ค่อยๆกลายสภาพเป็นสินค้าประเภท “เมด อิน ไชน่า” ที่ “ซื้อถูก-กินถูก” กว่าสินค้าตะวันตกแบบชนิดแทบครึ่งต่อครึ่ง อันส่งผลให้มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับเลบานอน เพิ่มขึ้นไปถึง 2,000 ล้านดอลลาร์ในแต่ละปี และทำให้บรรดาหนุ่มๆ-สาวๆ ชาวเลบานอน ที่เคยนิยมอเมริกันมาโดยตลอด ชักเริ่มๆ หันมา “เรียนภาษาจีน” กันมั่งแล้ว...

ยิ่งเมื่อขบวนการทางการเมืองในเลบานอน อย่าง “เฮซบอลเลาะห์” ที่อิงแอบ แนบชิดกับประเทศคู่กัดอเมริกาและอิสราเอล อย่างอิหร่าน เริ่มหันมาชี้แนะ ชี้นำ ให้ “เลบานอน ต้องหันไปหาจีน” หรือ “Lebanon must look East” อย่างเป็นเรื่อง เป็นราว ยิ่งทำให้สายสัมพันธ์และความเชื่อมโยงดังกล่าว กลายเป็นสิ่งที่ “มีความหมาย...มากไปกว่าแค่สัญลักษณ์ทางยุทธศาสตร์” ในสายตาของบรรดานักยุทธศาสตร์ชาวอเมริกันทั้งหลายยิ่งเข้าไปทุกที อย่างที่นักวิจัยอาวุโส แห่งสถาบัน “The American Enterprise Institute” “นายDanielle Pletka” ได้เคยพยายามเขียนเตือนรัฐบาลตัวเอง เอาไว้นั่นแหละว่า... “ขณะที่ระบอบปกครองอิสลามของอิหร่าน กำลังแสดงบทบาททางการเมืองผ่านบรรดาตัวแทน ฝูงแร้ง...จากปักกิ่ง ก็กำลังบินวนและจ้องเขม็งไปยังระบบโครงสร้างขั้นพื้นฐานของเลบานอน ไม่ว่าท่าเรือ สนามบิน ไปจนถึงการใช้อำนาจอย่างอ่อนแผ่ซ่านเข้าไปในมหาวิทยาลัยต่างๆ ท่ามกลางภาวะที่อำนาจอธิปไตยของเลบานอนกำลังใกล้ล่มสลายเข้าไปทุกที...”

พูดง่ายๆ ว่า...ภายใต้ภาวะ “โรคซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น” ของเลบานอน ที่ไม่เพียงแต่ต้องเจอกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เจอการแพร่ระบาดของเชื้อ “COVID-19” เข้าไปอีกดอก แถมล่าสุดยังต้องเจอกับ “โศกนาฏกรรม” เหตุการณ์ระเบิดครั้งใหญ่ ที่คร่าชีวิตผู้คนนับร้อยๆ บาดเจ็บนับพัน อาคารบ้านเรือนพังพินาศไปแทบทั้งเมือง ไม่ว่าจะโดย “อุบัติเหตุ” หรือโดยอะไรก็ตาม โดยยังไม่รู้ว่าจะไปหาเงิน หาทอง มาช่วยเยียวยา ช่วยฟื้นฟู ความพังพินาศเสียหายยับเยินเช่นนี้กันอีกสักเท่าไหร่ จากที่ไหน และเมื่อไหร่บรรดาสิ่งทั้งหลาย ทั้งปวง เหล่านี้นี่เอง...ที่ทำให้รัฐบาลและประชาชนชาวเลบานอน หนีไม่พ้นต้อง “ตัดสินใจ” ว่าสุดท้ายแล้วจะหันไป “เล็งเห็นที่ซึ่งจะพึ่งพา” กันในแนวไหน แบบไหน จะหันไปหาคุณพี่จีนที่ออกไปทางซอฟต์ๆ ถนัดในการใช้ “อำนาจอย่างอ่อน” (Soft Power) พร้อมขนอุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์ ยารักษาโรค หน้ากาก ชุดสวมป้องกันเชื้อโรค ฯลฯ โดยการ “อภินันทนาการ” จากกองทัพปลดแอกประชาชนจีน มาให้กองทัพเลบานอน ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสกันถึงที่ หรือหันไปหาคุณพ่ออเมริกาที่ออกไปทางห้าวเป้ง ที่ถนัดในการใช้ “อำนาจอย่างแข็ง” (Hard Power) ในการจัดการ เล่นงาน “ใครก็ตาม...ที่ไม่ได้ยืนอยู่ข้างอเมริกา” ไม่ว่าจะเคยเป็นมิตร หรือเป็นศัตรู ก็แล้วแต่...

ว่ากันว่า...บรรดานักการเมืองโดยส่วนใหญ่ของเลบานอน ที่ค่อนข้างคุ้นเคย คุ้นชินกับอำนาจของฝ่ายตะวันตกมาโดยตลอด ยังมองการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเลบานอนด้วยกรรมวิธีเดิมๆ ไม่ว่าการเพิ่มสภาพคล่อง การปรับโครงสร้างหนี้ในธนาคารกันไปตามสภาพ ค่อนข้างโน้มเอียงไปทางอเมริกา อย่างไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอื่น ดังที่นักวิเคราะห์การเมืองชาวเลบานอนอย่าง “Sami Nader” สรุปเอาไว้นั่นแหละว่า... “การลงทุนของจีนนั้น กว่าจะให้ผลตอบแทนก็ต้องรออีก 5-6 ปีข้างหน้า ซึ่งตอนนั้นเลบานอนอาจตายไปแล้ว ดังนั้น...สิ่งที่เลบานอนต้องการขณะนี้คือเงินกู้จาก IMF (โดยการช่วยเหลือของอเมริกา) มากกว่า” โดยเฉพาะการคิดหันไปหาจีน ในช่วงที่คุณพ่ออเมริกากำลังไล่บด ไล่บี้ “มหาอำนาจคู่แข่ง” รายนี้ รวมทั้งใครก็ตามที่ไม่คิดจะยืนอยู่ข้างอเมริกา แบบชนิดไม่เหลือช่อง ไม่เหลือพื้นที่กลางๆ เอาไว้ให้เลย ขณะที่นักการเมืองเสียงข้างน้อยอย่าง “เฮซบอลเลาะห์” ที่พยายามหันไปเชียร์จีน ก็พร้อมลากประเทศเลบานอนให้หันไปเป็นศัตรูกับอเมริกา อย่างชนิดเปิดเผยและตรงไป-ตรงมา...

การไม่รู้ว่าควรหันไปพึ่งจีน หรือพึ่งอเมริกา อันไหนจะเหมาะกว่า เข้าท่ากว่านี่เอง...ที่ทำให้นักวิเคราะห์ที่ออกมาในแนวกลางๆ อย่าง “Abdulaziz Sager” ประธานและผู้ก่อตั้งองค์กร “The Gulf Research Center” ได้เคยปรารภ รำพึงเอาไว้ประมาณว่า “บางที...เราอาจต้องการให้ประชาสังคมเลบานอน เข้ามาเป็นตัวช่วยให้เกิดสถานการณ์ที่แน่นอน ว่าเราควรไปทางไหนกันแน่” และดูเหมือนว่าคำปรารภ รำพึง หรืออาจเรียกว่า “คำภาวนา” ของนักวิเคราะห์รายนี้ จะเริ่มเป็นจริง เป็นจัง ขึ้นมาบ้างแล้ว โดยเฉพาะหลังจากเกิดเหตุโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ หรือเหตุระเบิดระดับน้องๆหลานๆ ระเบิดปรมาณูกลางกรุงเบรุต เมื่อช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา นั่นก็คือเกิดการ “ลุกฮือ” ของบรรดาประชาชนชาวเลบานอนทั้งหลาย ออกมาประท้วงลงถนนอย่างเป็นระบบและเป็นกิจการ ดังนั้น...ไม่ว่าการระเบิดคราวนี้จะเป็นอุบัติเหตุหรือไม่ อย่างไรก็ตามที แต่สุดท้ายคำตอบ คำอธิบาย ในเรื่องนี้ ยังไงๆ....คงแยกไม่ออกไปจาก “ผลของการประท้วง” นั่นแหละ ว่าจะมีมุมจบออกมาในรูปไหน แบบไหน???...




August 10, 2020 at 12:02PM
https://ift.tt/2DMbhBD

เบื้องหน้า-เบื้องหลัง...ระเบิดเลบานอน (จบ) - ผู้จัดการออนไลน์

https://ift.tt/3cJxo7G


Bagikan Berita Ini

0 Response to "เบื้องหน้า-เบื้องหลัง...ระเบิดเลบานอน (จบ) - ผู้จัดการออนไลน์"

Post a Comment

Powered by Blogger.